EV Charger เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
อุปกรณ์หลักที่จะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนได้ ก็คือเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าครับ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่หลากหลายประเภทในตลาด เรามาทำความรู้จักเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแต่ละประเภทกันดีกว่า
เครื่องชาร์จสาธารณะ (Public EV Charging Stations)
ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังมีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะไม่มากนัก (แต่มีโครงการของทั้งภาครัฐและเอกชน ที่จะขยายให้มีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว) ซึ่งส่วนมากยังอยู่ในขั้นตอนการทดสอบภายในของแต่ละองค์กร โดยคาดว่าจะมีรูปแบบของการบริการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะออกมาเป็นรูปธรรมเร็วๆ นี้ครับ ในต่างประเทศ รูปแบบการให้บริการ จะมีทั้งแบบให้บริการฟรี, ให้บริการโดยจ่ายเงินเป็นรายครั้ง, และ ให้บริการโดยการจ่ายเงินเป็นรายเดือน ซึ่งผู้ที่จะมาใช้บริการ อาจจะต้องถือบัตรสำหรับสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และนำบัตรนั้นมาแตะกับเครื่องชาร์จ ก่อนที่จะทำการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทุกครั้ง
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตรถยนต์ที่มีรถยนต์ไฟฟ้าจำหน่ายในประเทศไทย (ส่วนมากเป็น Plug-in Hybrid) จึงมีความจำเป็นต้องตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กับลูกค้าของตนเองขึ้นมา ประกอบไปด้วย BMW, Mercedes-Benz และ Porsche ซึ่งแต่ละยี่ห้อ จะสงวนให้กับลูกค้ารถยนต์ของตนเองเท่านั้น ให้บริการฟรีตามที่จอดรถห้างสรรพสินค้า, อาคารสำนักงาน, โรงแรมต่างๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองมีจุดชาร์จไฟในที่สาธารณะ
เครื่องชาร์จตามบ้าน (Home EV Charger)
รถยนต์ไฟฟ้าแทบทุกรุ่นที่วางจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ประเภท PHEV หรือ BEV นั้น จะมีเครื่องชาร์จแบบพกพา (Portable EV Charger) ติดมาให้ด้วย เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของตนเองที่บ้านได้ โดยเครื่องชาร์จแบบพกพานี้ จะมีหัวด้านหนึ่งสำหรับเสียบเข้ากับตัวรถ และ หัวอีกด้านหนึ่งจะเป็นปลั๊กไฟเหมือนกับเครื่องใช้ไฟฟ้าปกติ เสียบเข้ากับปลั๊กตามบ้านได้เลยโดยตรง
เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบพกพานี้ มักจะมีอัตราการชาร์จที่ไม่เร็วนัก ด้วยข้อจำกัดของการเสียบปลั๊กเข้ากับผนังบ้าน ซึ่งมักจะถูกตั้งค่าให้ชาร์จที่แรงดันประมาณ 8A – 12A ใช้เวลาราวๆ 3 ชั่วโมงครึ่ง ในการชาร์จรถยนต์ประเภท Plug-in Hybrid และใช้เวลานานกว่า 6-7 ชั่วโมง ถึงจะชาร์จรถยนต์ประเภท BEV ให้เต็มได้
ตัวเลือกที่แนะนำสำหรับการชาร์จรถยนต์ที่บ้าน คือการติดตั้งตู้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (มักจะเป็นแบบแขวนผนัง) ที่รองรับแรงดันไฟสูงกว่า และสะดวกในการจัดเก็บสายมากกว่า ซึ่งจะเริ่มต้นที่แรงดัน 16A – 32A ตามแต่รุ่นของเครื่องชาร์จ สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่าการชาร์จผ่านเครื่องชาร์จแบบพกพาที่ติดมากับรถยนต์อย่างมาก โดยเฉพาะการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) หรือหากเป็นรถยนต์ Plug-in Hybrid ก็มักจะชาร์จได้เต็มภายในระยะเวลา 2 ชั่วโมงเศษๆ, มีความสะดวกในการเก็บสาย และ ดูเป็นระเบียบเรียบร้อย
การชาร์จไฟผ่านกระแสไฟฟ้าตรง (DC Charger)
การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านไฟฟ้ากระแสตรง (DC) อาจเรียกกันว่า ระบบ Quick Charge หรือ DC Fast Charge จะต้องชาร์จกับรถยนต์ที่รองรับ ซึ่งมักจะมีเฉพาะในรถยนต์ไฟฟ้า 100% เท่านั้น (ไม่มีในรถยนต์ Plug-in Hybrid) อาจมาในรูปแบบของหัวชาร์จแบบ Combo ที่เป็นหัวชาร์จส่วนเพิ่มเติมของหัวชาร์จแบบ AC ปกติ (มาตรฐาน Type 1 Combo หรือ Type 2 Combo), มาตรฐาน CHAdeMO หรือถ้าเป็นรถยนต์ Tesla ก็จะมีมาตรฐาน Tesla Supercharger ของตัวเองในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็วโดยเฉพาะ
การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าผ่านกระแสตรง บางมาตรฐานสามารถทำได้ด้วยกระแสไฟฟ้าสูงถึง 480V – 500V ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าจาก 0% ถึง 80% ได้ในระยะเวลาเพียง 20-30 นาที แต่ระบบ Quick Charge นี้จะลดความเร็วในการชาร์จลงเมื่อแบตเตอรีใกล้จะเต็ม
สถานีชาร์จไฟกระแสตรง มักจะเป็นสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ ที่ให้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาชาร์จแบบเร่งด่วน ใช้เวลาเพียง 10 – 20 นาที และเดินทางต่อได้อีกนับร้อยกิโลเมตร แตกต่างจากการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าด้วยกระแสสลับปกติ ที่มักจะชาร์จตามบ้านหรือที่ทำงาน ที่มีเวลาจอดรถในช่องจอดนั้นเป็นเวลานานๆ นั่นเอง
Brand Inside ติดตามเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มาได้สักระยะหนึ่ง เนื่องจากเล็งเห็นว่านี่คือเทคโนโลยีของอนาคต ในต่างประเทศให้ความสนใจมาก และในไทยเองก็มีกระแสมาพอสมควร ซึ่งทาง SCB EIC ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัที่มีผลต่อการแจ้งเกิดของ EV ในบ้านเราไปบ้างแล้ว และครั้งนี้คือเรื่องของ สถานีชาร์จ ว่าจะมีอยู่มากน้อยเพียงใด และรถยนต์ EV ที่เราขับอยู่ จะไปถึงสถานีต่อไปหรือไม่
ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก จำนวน EV ที่วิ่งบนท้องถนนจริงกลับยังน้อย ส่วนหนึ่งนั้นเป็นผลมาจากความกังวลของผู้ใช้รถว่าแบตเตอรี่อาจหมดลงกลางทาง ด้วยระยะทางที่รถยนต์ไฟฟ้าสามารถวิ่งได้จากการชาร์จไฟจนเต็มนั้น สั้นกว่าการขับรถเครื่องยนต์สันดาปภายในที่เติมน้ำมันมาเต็มถัง
การจะหาที่ชาร์จไฟระหว่างทางก็ดูจะเป็นเรื่องยุ่งยาก เพราะนอกจากจำนวนสถานีชาร์จที่ไม่เพียงพอแล้ว สถานีชาร์จเหล่านี้ยังตั้งอยู่โดดเดี่ยว ทำให้ผู้ใช้รถไม่สามารถทราบได้ว่าสถานีชาร์จนั้นตั้งอยู่ที่ใดบ้าง ด้วยเหตุนี้ ผู้ใช้รถบางกลุ่มจึงยังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของ MIT เกี่ยวกับพฤติกรรมการขับรถของชาวอเมริกันใน 1 วัน ที่เผยว่ารถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Nissan Leaf สามารถวิ่งได้ไกลถึง 135 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งก็ครอบคลุมกับระยะทางที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ขับรถโดยปกติใน 1 วัน หรือประมาณ 72.5 กิโลเมตรต่อวัน แต่ก็ยังมีปัญหากับการขับรถในระยะทางไกล
การสร้างโครงข่ายสถานีชาร์จ หรือ Charging network และการให้ข้อมูลจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า กรณีในต่างประเทศนั้น การขยายโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้รวดเร็วและครอบคลุมในพื้นที่หลากหลาย จำเป็นต้องมีผู้ให้บริการโครงข่ายเข้ามาติดตั้งสถานีชาร์จและรวบรวมข้อมูลของสถานีชาร์จตามจุดต่างๆ ทั้งสถานีชาร์จที่เป็นของผู้ให้บริการโครงข่ายเองและสถานีชาร์จที่เป็นของเจ้าของรายอื่นที่สมัครเข้าร่วมโครงข่าย
ข้อมูลที่เกี่ยวกับสถานีชาร์จ ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ตั้ง หรือสถานะการใช้งานจะส่งไปยังผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่านบนแอปพลิเคชันมือถือ หรือบนเว็บไซต์ของผู้ให้บริการโครงข่ายรายนั้น นอกจากนี้ เพื่อลดความกังวลเรื่องแบตเตอรี่ที่อาจหมดลงกลางทาง บนถนซุปเปอร์ไฮเวย์ในยุโรปที่เชื่อมระหว่างเดนมาร์ค เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และสวีเดน จึงได้ติดตั้งสถานีชาร์จและโครงข่ายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมตลอดเส้นทาง
ทั้งนี้ เมื่อมีการนำข้อมูลการใช้สถานีชาร์จของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า มาประกอบกับนโยบายของภาครัฐในแต่ละประเทศที่ต้องการจะส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าขยายตัวในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับที่ Bloomberg New Energy Finance (BNEF) คาดการณ์ว่าส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะขยายตัวจาก 1-2% ของยอดขายรถทั้งหมดในยุโรปในปี 2015 เป็น 38% ภายในปี 2040
ผู้ให้บริการโครงข่ายในต่างประเทศมักเป็นบริษัทที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมไฟฟ้า รวมถึงมีความสามารถในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IT เพื่อสร้างระบบนิเวศทางธุรกิจ ยกตัวอย่าง Tesla Motors ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ได้จัดตั้งโครงข่าย Tesla Supercharger ขึ้นเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla โดยเฉพาะ หรือบริษัทผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า NRG ได้ก่อตั้ง EVgo network โดยนำเอาความเชี่ยวชาญจากธุรกิจไฟฟ้า มาพัฒนาเทคโนโลยีสถานีชาร์จ อุปกรณ์ และโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อขยายฐานลูกค้าของธุรกิจเดิม
อีกทั้งยังมี บริษัทผู้พัฒนาซอฟต์แวร์บางราย เช่น Greenlots ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับบริหารจัดการโครงข่าย เพื่อให้บริการแก่เจ้าของสถานีชาร์จ ผู้ให้บริการโครงข่ายอื่นๆ หรือแม้แต่เจ้าของเทคโนโลยีอุปกรณ์รายต่างๆ
นอกจากนี้ ผู้ให้บริการโครงข่ายยังต้องมีสายป่านที่ยาวพอ เพราะผลตอบแทนการลงทุนนั้นยังไม่ชัดเจน เนื่องจากจำนวนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ยังน้อย ส่งผลให้การขยายตัวของโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเองทำได้ช้า ซึ่งขณะนี้โมเดลทางธุรกิจของผู้ให้บริการโครงข่ายที่ประสบความสำเร็จที่สุด คือ บริษัท ChargePoint ที่เน้นกลยุทธ์ให้บุคคลที่สามเข้ามาลงทุนเป็นเจ้าของสถานีชาร์จ และเข้าร่วมในโครงข่ายของบริษัท ทำให้บริษัทสามารถขยายพื้นที่ให้บริการจนครอบคลุมสถานที่ที่มีความหลากหลาย และตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า เช่น ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเดินทางไปช้อปปิ้งในเมืองหรือเดินทางไปท่องเที่ยวต่างเมือง เป็นต้น
ยิ่งกว่านั้น บริษัทยังสามารถเพิ่มฐานลูกค้าใหม่โดยการสร้างพันธมิตรกับค่ายรถยนต์ต่างๆ เช่น BMW, Nissan, Chevrolet, และ Volkswagen เป็นต้น ซึ่ง บริษัทจะได้รับค่าสมัครจากค่ายรถต่างๆ ในการเข้าร่วมโครงข่ายสถานีชาร์จ ค่ายรถยังสามารถเสนอสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้าของตนเพื่อส่งเสริมการขายได้ในอีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี แม้ว่าบริษัท ChargePoint จะสามารถขยายโครงข่ายและฐานลูกค้าได้มากเท่าไหร่ก็ตาม แต่รายได้ส่วนใหญ่ยังคงไม่ใช่การขายไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้รถ แต่เป็นการขายอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ให้กับพันธมิตรทางธุรกิจและเจ้าของสถานีชาร์จ